11 ตุลาคม 2023 - Design Ideas

EV Charger ติดตั้งอย่างไร บ้านปลอดภัย ได้มาตรฐาน

ปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้ากำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลที่รณรงค์ให้คนไทยหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าในการโดยสารมากยิ่งขึ้น ทำให้แนวโน้มการติดตั้งเครื่อง EV Charger ไว้สำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าส่วนตัวที่บ้านจึงกลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่คนมีแผนกำลังสร้างบ้านต้องพิจารณาเพิ่มเข้าไปด้วย เพราะการติดตั้ง EV Charger จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวและวางแผนเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าภายในบ้านเช่นกัน ดังนั้นหากทราบรายละเอียด และจัดเตรียมขั้นตอนตั้งแต่ออกแบบเริ่มสร้างบ้านก็จะทำให้การดำเนินงานสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

การตรวจเช็กความพร้อมก่อนดำเนินการติดตั้ง EV Charger เครื่องชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน

  1. ตรวจสอบมิเตอร์ไฟฟ้า

การติดตั้ง EV Charger ไว้ใช้งานที่บ้านทั่วไป จำเป็นต้องใช้มิเตอร์ไฟฟ้าที่รองรับได้ขนาด 30 แอมป์ขึ้นไปสำหรับไฟฟ้า 1 เฟส แต่หากที่บ้านใช้ไฟฟ้า 3 เฟส มิเตอร์ไฟฟ้าต้องมีขนาด 15/45 (บ้านทั่วไปมักเป็นบ้านแบบ 1 เฟส เท่านั้น) แค่เปลี่ยนขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าเป็น 30 แอมป์ ก็เพียงพอต่อการติดตั้งแล้ว โดยสามารถดำเนินการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าได้ที่ การไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใกล้บ้าน ซึ่งหากใครที่กำลังสร้างบ้านใหม่ แนะนำให้ติดตั้งแจ้งหน่วยงานเหล่านี้ล่วงหน้าเลยก็ได้ เพื่อความรวดเร็วและสะดวกต่อการติดตั้งมากยิ่งขึ้น

  1. ตรวจขนาดสายไฟเมนเข้าบ้าน

สายเมนต่อจากสายไฟหลักเข้าบ้านเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด เพราะมาตรฐานขนาดของสายไฟเมนสำหรับบ้านที่ต้องการติดตั้ง EV Charger ต้องมีขนาด 25 ตารางมิลลิเมตร ขึ้น โดยขนาด 25 ตารางมิลลิเมตร (หมายถึงขนาดของเส้นทองแดงภายใน) รวมถึงห้ามลืมตรวจสอบตู้ Main Circuit Breaker (MCB) ที่รองรับกระแสไฟฟ้าได้ถึง 100 แอมป์ ด้วย เนื่องจากปกติแล้วตู้ Main Circuit Breaker ของบ้านทั่วไปจะรองรับแค่ 45 แอมป์ เท่านั้น สำหรับบ้านใหม่ที่มีแผนกำลังสร้างให้ติดตั้งขนาด 100 แอมป์ไปเลย สำหรับบ้านเดิมหากไม่เพียงพอให้ดำเนินการติดตั้งใหม่เสียก่อน

  1. ตู้ควบคุมไฟฟ้า (MCB)

เบรกเกอร์ที่ใช้สำหรับอุปกรณ์ EV Charger เพื่อชาร์จรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ แยกจากเบรกเกอร์ตัวอื่น ๆ ของระบบไฟฟ้าในบ้าน ในกรณีที่ตู้ไฟฟ้าของบ้านมีที่เหลือสำหรับติดตั้งก็ไม่เป็นไร สามารถติดตั้งร่วมได้เลย แต่หากไม่มีช่องว่างเหลือแล้ว สามารถติดตั้งแยกออกมาจากตู้ไฟฟ้าหลักได้เหมือนกัน โดยต้องมีเป็น 1P ขนาด 16 A แยกช่องจ่ายไฟออกจากส่วนอื่น และมีขนาดไม่เกิน 100 A สำหรับมิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 30 (100) A เพื่อที่สามารถรองรับการชาร์จรถไฟฟ้าได้

  1. เครื่องตัดไฟรั่ว (RCD)

EV Charger คืออุปกรณ์ที่ใช้พลังงานกระแสไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งมีความอันตรายหากไม่ระมัดระวังขณะใช้งาน จึงจำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์เครื่องตัดไฟรั่ว ไว้สำหรับทำหน้าที่ตรวจจับและตัดวงจรไฟฟ้าเมื่อตรวจพบว่ามีกระแสไฟรั่วไหล หรือไหลเข้าออกไม่เท่ากัน ตัดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจรจนอาจกลายเป็นเหตุอัคคีภัยได้

  1. เต้ารับ (EV Socket-Outlet)

ตามมาตรฐาน มอก. 166-2549 ระบุไว้ว่า เต้ารับสำหรับเสียบสายชาร์จควรเป็น 3 รู เพื่อที่สามารถทนต่อกระแสไฟฟ้าได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 16 A และต้องมีการติดตั้งหลักดิน (สายดิน) เพื่อความปลอดภัยต่อการใช้งาน ซึ่งแนะนำให้ติดตั้งแยกจากหลักดินของระบบไฟฟ้าเดิมของบ้านด้วย

  1. ตำแหน่งสำหรับติดตั้ง EV Charger

เตรียมจุดสำหรับติดตั้ง EV Charger ที่บ้าน โดยส่วนใหญ่แล้วนิยมเลือกติดตั้งในบริเวณที่จอดรถ บ้านใหม่ที่กำลังออกแบบ แนะนำให้พิจารณาถึงปัจจัยส่วนนี้ด้วย เนื่องจากการติดตั้ง EV Charger จำเป็นต้องมีระยะห่างจากจุดติดเครื่องชาร์จจนถึงจุดที่เสียบเข้าตัวรถไฟฟ้าไม่ควรเกิน 5 เมตร มิเช่นนั้นสายชาร์จจะยาวไม่ถึง รวมถึงจุดติดตั้ง EV Charger ควรอยู่ใกล้กับตู้เมนไฟฟ้า เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง ไม่ต้องเสียค่าการเดินสายไฟเพิ่มเติม และที่สำคัญ จุดติดตั้งต้องไม่โดนไฟหรือโดนฝนโดยตรง แม้ว่าชุดอุปกรณ์ EV Charger จะมาพร้อมมาตรฐานการกันน้ำกันฝน แต่หากโดนบ่อย ๆ ก็ไม่ปลอดภัยต่อการใช้งานเช่นกัน

EV Charger มีกี่ประเภท แบบไหนเหมาะสำหรับติดตั้งไว้ที่บ้าน

  1. Quick Charger

การชาร์จรถไฟฟ้ากระแสตรงที่รู้จักกันในชื่อ DC Charging ที่มีความรวดเร็ว ใช้เวลาเพียง 40 ถึง 60 นาที ก็สามารถชาร์จรถไฟฟ้าได้ตั้งแต่ 0 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นรูปแบบ EV Charger ที่พบได้ทั่วไปตามสถานีชาร์จรถไฟฟ้า แต่หากให้แนะนำ EV Charger รูปแบบนี้ไม่นิยมติดตั้งใช้ที่บ้าน

  1. Double Speed Charger (Wall Box/ EV Charger)

การชาร์จรถไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Charging) รูปแบบนี้เหมาะสำหรับติดตั้งใช้งานที่บ้านมากที่สุด ใช้เวลาชาร์จครั้งหนึ่งประมาณ 4 ถึง 5 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับขนาดความจุแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละรุ่นด้วย นอกจากพบเห็นได้ที่บ้านทั่วไปแล้ว EV Charger ประเภทนี้ยังเป็นประเภทเดียวกับที่พบตามห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรมเช่นกัน

  1. การชาร์จไฟฟ้าแบบธรรมดาด้วยชุดอุปกรณ์ที่ติดตั้งมากับรถไฟฟ้า

การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบพื้นฐานที่เสียบต่อเข้ากับเต้ารับไฟฟ้าที่บ้านโดยตรง ใช้เวลาชาร์จมากถึง 7 ชั่วโมง เลยทีเดียวกว่าแบตเตอรี่จะเต็ม (ขึ้นอยู่กับความจุแบตเตอรี่ และสมรรถนะของรถ) วิธีนี้ทำได้ก็ต่อเมื่อมิเตอร์ไฟฟ้าของบ้านรองรับกระแสไฟฟ้าขั้นต่ำ 15(45) A และต้องเป็นเต้ารับเฉพาะสำหรับการชาร์จรถไฟฟ้าเท่านั้น มิเช่นนั้นอาจเกิดอันตรายขึ้นได้

สำหรับใครที่กำลังแพลนจะสร้างบ้านและมีความต้องการซื้อรถไฟฟ้าไว้ใช้งาน อย่าลืมตรวจเช็กระบบไฟในบ้านกันก่อนติดตั้ง EV Charger กันด้วย เพื่อความปลอดภัยของทุกคนและทรัพย์สินในบ้าน ยิ่งหากจัดเตรียมความพร้อมตั้งแต่เริ่มออกแบบแปลนบ้านจะยิ่งเป็นผลดีมาก เพราะคุณจะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงพื้นที่ แก้ไขในภายหลัง สามารถวางแผนและดำเนินการตามรูปแบบให้เหมาะสำหรับติดตั้ง EV Charger ได้เลย ท่านใดที่ต้องการความช่วย Awii House บริษัทรับสร้างบ้านยินดีให้คำปรึกษาในการสร้างบ้านที่ที่ตอบโจทย์กับความต้องการของคุณได้อย่างลงตัว